Friday, March 16, 2007

การวิเคราะห์งบการเงิน





การวิเคราะห์งบการเงิน
1. การบริหารและการจัดการทางการเงินขององค์กร
การบริหารองค์กรประกอบด้วย กิจกรรมที่เป็นวัฎจักรในรอบระยะเวลาหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องการลงทุนเพื่อซื้อ เครื่องจักร อุปกรณ์ และวัตถุดิบ การจ่ายเงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ และการจัดหาบริการด้านอื่น ๆ เป้าหมายของทุกองค์กรก็คือการมีรายรับมากกว่ารายจ่ายที่ลงทุนไป การที่จะบรรลุวัตถุประสงค์นี้ได้ก็ด้วยการบริหารค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อ การผลิต การขายและการบริหาร
การจัดการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพจะทำให้องค์กรสามารถสร้างผลกำไรได้ โดยเงินลงทุนจะถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปของสินค้าโดยการจัดซื้อและการผลิต และจะกลับมาอยู่ในรูปของเงินอีกเมื่อขายสินค้าได้ กิจกรรมทางการเงินจะถูกบันทึกตามขั้นตอนของการลงบัญชี กิจกรรมทางการเงินเป็นส่วนสำคัญของการบริหารองค์กรและต้องการการจัดการที่มีประสิทธิภาพ
2. การบริหารการเงิน
จุดมุ่งหมายสูงสุดของทุกองค์กรก็คือ “การอยู่รอดได้และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง” ซึ่งองค์กรจะต้องทำ 2 สิ่งนี้คือ ทำกำไร และทำให้สินค้าขายได้ ทุกองค์กรจะต้องมีการพัฒนา และการจัดระบบการบริหารทางการเงินที่ดี
ทุกองค์กรควรจะมีการวางแผนกิจกรรมที่จะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ และจะต้องสามารถควบคุมให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ หรือกล่าวได้ว่า การบริหารการเงินประกอบด้วย 2 ส่วนคือ การวางแผนการเงิน และการจัดการทางการเงิน
3. งบการเงิน
จุดมุ่งหมายของการจัดทำรายงานทางบัญชี คือ เพื่อนำเสนอผู้บริหารถึงกิจกรรมทางการเงินขององค์กรที่บันทึกไว้ในรอบระยะเวลาหนึ่ง รายงานทางบัญชีสามารถนำเสนอข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับสถานะทางการเงินขององค์กรในปัจจุบัน และในช่วงระยะเวลาใด ๆ ในอดีต ซึ่งผู้ที่เกี่ยวกับประกอบด้วย ผู้บริหารองค์กร ผู้ถือหุ้น และเจ้าหนี้
เอกสารที่บอกถึงกิจกรรมการบริหาร และสถานะทางการเงินขององค์กรนี้เรียกว่า “งบการเงิน” และส่วนหลักๆ ประกอบด้วย งบดุล และงบกำไรขาดทุน
· งบดุล
งบดุลจะบอกถึง ทรัพย์สิน หนี้สิน และเงินทุนที่องค์กรมีอยู่ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้รู้สถานะทางการเงินขององค์กร ณ เวลาหนึ่ง
สินทรัพย์ จะถูกบันทึกทางด้าน “เครดิต” ของงบดุล และแบ่งเป็น สินทรัพย์หมุนเวียน สินทรัพย์ถาวร และสินทรัพย์ค้างจ่าย หนี้สินและเงินทุนจะถูกบันทึกทางด้าน “เดบิต” และแบ่งเป็นหนี้สินหมุนเวียน หนี้สินระยะยาว และเงินทุนส่วนของเจ้าของ

1. การพิจารณาประเภทของบริษัทและประเภทของหลักทรัพย์

ในการวิเคราะห์บริษัท ในขั้นแรกจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทของบริษัท และประเภทของหลักทรัพย์ ทั้งนี้หลักทรัพย์แต่ละหลักทรัพย์ ไม่จำเป็นต้องจัดอยู่ในประเภทเดียวกับ บริษัทที่ออกหลักทรัพย์นั้น เนื่องจากการพิจารณาประเภทของหลักทรัพย์นั้น นอกจากจะดูความสามารถในการทำกำไรของบริษัทแล้ว ยังต้องพิจารณาลักษณะความเคลื่อนไหวของราคาว่า มีลักษณะเป็นอย่างไรด้วย เช่น หลักทรัพย์ หรือหุ้นที่ออกโดยบริษัทที่เป็น Growth Company อาจจะไม่เป็นหลักทรัพย์ประเภท Growth Stock ในตลาดหุ้นก็ได้ เป็นต้น

1.1 Growth Company and Growth Stock

Growth Company เป็นบริษัทที่มียอดขายและผลกำไรในอดีตที่ผ่านมา สูงกว่ามาตรฐานใน อุตสาหกรรมเดียวกัน บริษัทที่มีลักษณะเป็น Growth Company จะมีความสามารถในการบริหาร และมีความเป็นไปได้ที่จะ ลงทุนในโครงการที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าที่คาดไว้ ดังนั้น ผลที่ได้รับก็คือ ยอดขายและผลกำไรของบริษัทจะเพิ่มขึ้น ในอัตราที่สูงกว่ามาตรฐาน และของบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน

สำหรับ Growth Stock เป็นหุ้นของบริษัทที่กำลังเจริญก้าวหน้า และมีผลประกอบการดี และมีการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นเป็นสัดส่วนน้อย เนื่องจากบริษัทนำเอากำไรสะสม เป็นเงินทุนสำหรับใช้ในการขยายกิจการ Dividend Yield จึงมีระดับต่ำ แต่ราคาหลักทรัพย์ในตลาดมักปรับตัวสูงขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

1.2 Defensive Company and Stock

Defensive Company จะมีผลกำไรที่มีเสถียรภาพ แม้ว่าในอนาคตสภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไป จะตกต่ำก็ตาม ได้แก่ กิจการสาธารณูปโภค บริษัทที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นแก่การครองชีพ เป็นต้น

สำหรับ Defensive Stock หมายถึง หุ้นของบริษัทที่มีผลการประกอบการ และจ่ายเงินปันผลในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาได้ดีกว่าหลักทรัพย์อื่นโดยรวม เมื่อมีการคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นไปในทางลบ ผู้ลงทุนควรสนใจลงทุนในหุ้นประเภทนี้ เนื่องจากลักษณะของหุ้นประเภทนี้ค่ อนข้างมีการเปลี่ยนแปลงของราคาไม่มากนัก เมื่อภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอนหรือตกต่ำ

หลักทรัพย์ที่จัดอยู่ในประเภท Defensive ได้แก่ หุ้นกิจการสาธารณูปโภค เนื่องจากหลักทรัพย์เหล่านี้มีการเคลื่อนไหวของราคาอย่างช้า ๆ แต่มีแนวโน้มสูงขึ้นตลอดเวลา ซึ่งลักษณะนี้เกิดขึ้นรวมทั้งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจรุ่งเรือง ลักษณะอีกประการหนึ่งของหลักทรัพย์ประเภทนี้ คือ หลักทรัพย์นี้จะมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ราคาหลักทรัพย์นี้จะลดลง ในทางตรงกันข้าม ถ้าอัตราดอกเบี้ยทั่วไปลดลง หลักทรัพย์ประเภทนี้จะมีราคาสูงขึ้น

นอกจากหลักทรัพย์ของกิจการสาธารณูปโภคแล้ว หลักทรัพย์ในประเภทนี้ยังได้แก่ หลักทรัพย์ของบริษัทผลิตเครื่องดื่ม บริษัทอาหารและยา รวมถึงหลักทรัพย์ของบริษัทที่ผลิตสินค้าที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน เป็นต้น

1.3 Cyclical Company and Stock

ผลกำไรของยอดขายของบริษัทประเภท Cyclical Company จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากวัฏจักรธุรกิจ กล่าวคือ ยอดขายและกำไรของบริษัทจะเพิ่มขึ้นมาก เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว และจะลดลงมากเมื่อเศรษฐกิจหดตัว

Cyclical Stock เป็นหุ้นที่มีลักษณะตรงข้ามกับ Defensive Stock คือ เป็นหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีกำไรเปลี่ยนแปลงตามวงจรของธุรกิจ เมื่อภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ผลประกอบการของธุรกิจจะดีขึ้น และมีการเจริญเติบโต ราคาของหลักทรัพย์ก็จะสูงขึ้นตาม ในทางตรงกันข้ามเมื่อภาวะเศรษฐกิจซบเซา ผลประกอบการของธุรกิจจะลดลงอย่างมาก

Cyclical Stock ได้แก่ หุ้นของอุตสาหกรรมประเภทวัสดุก่อสร้าง เยื่อกระดาษและกระดาษ เครื่องมือและเครื่องจักร ยานพาหนะและอุปกรณ์วัสดุก่อสร้าง รวมทั้งอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าฟุ่มเฟือย

1.4 Speculative Company and Stock

Speculative Company คือ บริษัทที่ได้รับผลตอบแทนสูงในขณะที่มีระดับความเสี่ยงที่สูง บริษัทที่จัดอยู่ในประเภทนี้ ได้แก่ บริษัทที่ริเริ่มคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ที่ค่อนข้างใช้ความเสี่ยงสูง เช่น การขุดเจาะน้ำมัน เหมืองแร่ เป็นต้น

สำหรับ Speculative Stock เป็นหลักทรัพย์ที่ดึงดูดผู้ลงทุนที่ต้องการเก็งกำไรได้เป็นอย่างดี ไม่มีความมั่นคงถาวร และมีการปรับตัวขึ้นลงอย่างรวดเร็วตามอุปสงค์ และอุปทานของตลาด ดังนั้น จึงมีอัตราความเสี่ยงสูงมาก

หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทของบริษัท และประเภทของหลักทรัพย์แล้ว ลำดับต่อไปของการวิเคราะห์บริษัทแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ (Qualitative Analysis) และ การวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis)

2. การวิเคราะห์บริษัทเชิงคุณภาพ

การวิเคราะห์ธุรกิจคุณภาพ (Qualitative Analysis) เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลโดยทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ได้แก่ อัตราการขยายตัวในอดีต และเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ส่วนแบ่งตลาด โครงสร้างเงินทุน โครงการขยายโรงงานในอนาคต การขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่ได้เตรียมการไว้ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรในบริษัท เป็นต้น เพื่อให้ง่ายแก่การเข้าใจ ผู้วิเคราะห์สามารถดูตัวอย่างการวิเคราะห์เชิงคุณภาพที่สำคัญ ๆ บางประการดังนี้ คือ

2.1 ขนาดของบริษัท (Size of the Firm)

ผู้วิเคราะห์ควรจะพิจารณาขนาดของแต่ละบริษัท ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ย่อมจะมีความได้เปรียบธุรกิจขนาดเล็ก ทั้งในด้านเงินทุน ด้านเทคนิค การจ้างผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถสูง และได้เปรียบในด้านสภาพการแข่งขันในตลาด เป็นต้น

2.2 อัตราการขยายตัวในอดีต (Past Rate of Growth)

ในการประมาณการผลกำไรของบริษัทในอนาคต เพื่อคำนวณหามูลค่าหลักทรัพย์ของบริษัทนั้น ผู้วิเคราะห์อาจใช้อัตราการขยายตัวในอดีตเป็นบรรทัดฐาน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่อัตราการขยายตัวในอนาคต จะเท่ากับอัตราการขยายตัวในอดีต หรือในกรณีที่บริษัทมีจุดเด่น หรือข้อได้เปรียบที่แสดงให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการพัฒนาก้าวหน้า ทั้งจากการเปรียบเทียบกับข้อมูลในอดีตและมาตรฐานอุตสาหกรรม อัตราการขยายตัวก็น่าจะสูงขึ้น

2.3 ลักษณะของผลิตภัณฑ์ (Nature of the Products)

ลักษณะของสินค้าในบริษัทเป็นลักษณะใด หากเป็นสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน อุปสงค์ในสินค้าจะมีเสถียรภาพมาก ซึ่งจะส่งผลให้กำไรของบริษัทที่ผลิตหรือจำหน่ายสินค้านั้น จะมีเสถียรภาพมากกว่าบริษัทที่ผลิตสินค้าประเภทอื่น

2.4 ชื่อยี่ห้อผลิตภัณฑ์ (Brand Name)

กรณีที่บริษัทมีชื่อยี่ห้อผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และเป็นที่ยอมรับบุคคลทั่วไป โอกาสในการทำกำไรของธุรกิจก็สูงขึ้นไปด้วย

2.5 โครงสร้างของเงินทุน (Capital Structure)

โครงสร้างของเงินทุน จะแตกต่างกันไปตามนโยบายของแต่ละบริษัทธุรกิจที่มีโครงสร้างของเงินทุน ประกอบด้วยส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่ ย่อมจะมีความเสี่ยงทางการเงินต่ำกว่าธุรกิจที่มีเงินทุนส่วนใหญ่มาจากหนี้สิน

2.6 การกระจายของผลิตภัณฑ์ (Diversification)

ธุรกิจที่ผลิตหรือจำหน่ายสินค้าและบริการหลายชนิด และมีชื่อยี่ห้อผลิตภัณฑ์หลายชื่อ ย่อมจะสามารถมีส่วนแบ่งในตลาด ได้มากกว่าธุรกิจที่มีการกระจายของผลิตภัณฑ์น้อย และย่อมสามารถลดความเสี่ยงที่เกิดจากความไม่แน่นอนของการประกอบการได้มากกว่า

2.7 ผู้บริหารระดับสูง (Top Management)

คณะผู้บริหารนับเป็นทรัพยากรที่มีค่ายิ่งของธุรกิจ หากผู้บริหารของบริษัทใดมีความสามารถในการบริหาร และเสริมสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ใต้บังคับบัญชา รวมทั้งมีประสบการณ์และความชำนาญในการประกอบธุรกิจประเภทนั้นแล้ว ย่อมจะทำให้การดำเนินงานของธุรกิจนั้นมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง

2.8 ความสามารถทางด้านการคิดค้นและเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่
(Research & Product Development Resources)

บริษัทที่มีความสามารถคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ จะเป็นผู้ที่ริเริ่ม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่นั้นในตลาด หากสินค้านั้นเป็นที่ยอมรับ ในช่วงแรกบริษัทก็จะสามารถทำกำไรได้สูงโดยปราศจากคู่แข่ง และยังสามารถพัฒนาสินค้านั้นให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นเร็วกว่าที่คู่แข่งจะตามทัน ทำให้บริษัทมีข้อได้เปรียบกว่าบริษัทที่จะก้าวเข้ามาเป็นคู่แข่งในภายหลัง

2.9 พนักงาน (Human Resources)

พนักงานเป็นทรัพยากรที่สำคัญของบริษัท การดำเนินงานของบริษัทจะราบรื่นไปด้วยดี และมีประสิทธิภาพก็ย่อมต้องอาศัยบุคลากรภายในบริษัท บริษัทจึงควรมีการพัฒนางานด้านทรัพยากรบุคคล เพื่อป้องกันการเปลี่ยน หรือผละงานบ่อย ๆ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบถึงการดำเนินงาน และผลกำไรของบริษัท

3. การวิเคราะห์บริษัทเชิงปริมาณ

การวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) จะวิเคราะห์จากงบการเงินของธุรกิจที่ผ่านมา และในปัจจุบันเป็นสำคัญ เพื่อจะนำมากำหนดตัวแปรต่าง ๆ อาทิ กำไรและเงินปันผลในอนาคต ราคาของหลักทรัพย์ในอนาคต เป็นต้น ซึ่งประเด็นหลักของการวิเคราะห์ ได้แก่ การวิเคราะห์งบการเงิน การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน และการประเมินราคาหลักทรัพย์ การวิเคราะห์โดยใช้งบการเงินของบริษัท จะยังประโยชน์แก่ผู้ใช้ ก็ต่อเมื่อผู้วิเคราะห์ได้เข้าใจถึงลักษณะโครงสร้าง และข้อจำกัดในการใช้งบการเงินนั้น ๆ นอกจากนี้ ผู้ใช้ควรสามารถตีความผลลัพธ์ที่ได้จากการคำนวณด้วย การวิเคราะห์บริษัทเชิงปริมาณ จึงเป็นเครื่องชี้ว่าอนาคตของธุรกิจนั้น ควรเป็นไปในลักษณะใด โดยผู้วิเคราะห์นำเขาข้อมูลต่าง ๆ ในงบการเงิน มาคำนวณหาสัดส่วน และอัตราส่วนเปรียบเทียบกันในแต่ละช่วงเวลา และเปรียบเทียบกับธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน แล้วตีความเพื่อหาคำตอบต่าง ๆ ที่ต้องการ อาทิ สาเหตุที่ธุรกิจต้องใช้เงินทุนเพิ่ม แหล่งที่มาของเงินทุนเป็นอย่างไร แหล่งใช้ไปของเงินทุนเป็นไปในทางใดบ้าง ความสามารถในการชำระหนี้ เป็นต้น

3.1 การวิเคราะห์งบการเงิน

งบการเงิน (Financial Statement) หมายถึง รายงานทางบัญชีที่จัดทำขึ้นเมื่อครบรอบระยะเวลาบัญชี เพื่อให้ผู้ถือหุ้นทราบถึงฐานะ และผลการดำเนินงานของบริษัทในรอบระยะเวลาที่ผ่านมา

งบการเงินจะประกอบด้วยข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับผลประกอบการในงวดการบัญชีที่ผ่านมา งวดบัญชีอาจแบ่งเป็นรอบ 6 เดือน คือปิดงบการเงิน ณ วันที่ 30 มิถุนายน และ 31 ธันวาคม ในระยะเวลาหนึ่งปี หรืออาจกำหนดเป็น 12 เดือน และกำหนดรอบเวลาการบัญชีมาบรรจบ ณ เดือนใดเดือนหนึ่งก็ได้ แต่ที่นิยมมักจะกำหนดวันสิ้นปี คือ วันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี

3.1.1 การวิเคราะห์งบดุล

งบดุล (Balance Sheet) เป็นงบการเงินที่แสดงสถานภาพทางการเงินของธุรกิจในวันสิ้นงวด โดยงบดุลนี้จะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน ด้วยกัน คือ สินทรัพย์ (Assets) หนี้สิน (Liabilities) และส่วนของผู้ถือหุ้น (Shareholder’s Equity)

ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของกิจการ และบุคคลภายนอก สามารถทราบถึงฐานและความมั่นคงของธุรกิจได้จากงบดุล โดยเฉพาะเจ้าหนี้ สามารถทราบว่าธุรกิจนั้นจะอยู่ในฐานะที่ชำระหนี้ เมื่อครบกำหนดได้เพียงใด เช่น สามารถวิเคราะห์เพื่อทราบสภาพคล่อง (Liquidity) ของธุรกิจนั้น ซึ่งจะทำให้ทราบถึงความสามารถในการชำระหนี้ได้

นอกจากนั้น งบดุลยังแสดงให้เห็นผลการดำเนินงานของธุรกิจตั้งแต่เริ่มกิจการ เนื่องจากรายการต่าง ๆ แสดงตัวเลขในแง่สะสม ทำให้ทราบแนวโน้มของรายการต่าง ๆ ที่มีอยู่ว่าเป็นไปในทางเพิ่มขึ้นหรือลดลง รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างรายการหนึ่งกับอีกรายการหนึ่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจมีสถานภาพเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

การวิเคราะห์งบดุลที่สำคัญวิธีหนึ่งคือ การวิเคราะห์ย่อส่วนตามแนวดิ่ง (Common-Size)

การวิเคราะห์งบแสดงการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงิน (Statement of Changes in Financial Position)

งบแสดงการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงิน เป็นงบที่จัดทำขึ้น เพื่อแสดงที่มาและการใช้ไปของเงินสดและเงินทุนหมุนเวียนในระหว่างงวดบัญชี อันเนื่องมาจากการดำเนินงาน และจากการเปลี่ยนแปลงรายการสินทรัพย์ และหนี้สินอื่นที่มิใช่ทุนหมุนเวียนแต่มีผลต่อทุนหมุนเวียน

งบแสดงการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงิน จะแสดงให้เห็นถึงแหล่งที่มาของเงินทุน (Sources of Funds) และการใช้ไปของเงินทุน (Uses of Funds) ในรอบปี เพื่อให้ทราบว่าในระหว่างปีนั้น เงินทุนของกิจการได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าไร และประกอบด้วยรายการอะไรบ้าง

แหล่งที่มาของเงินทุน (Sources of Funds) ที่สำคัญ ได้แก่

กำไรสุทธิ กำไรสุทธิเป็นผลทำให้เงินทุนของกิจการเพิ่มขึ้น ในกรณีที่มีผลขาดทุนจะเกิดผลในทางทำให้เงินทุนลดลง
ค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนที่ไม่ต้องใช้เงินทุน เช่น ค่าเสื่อมราคา เป็นผลทำให้เงินทุนของกิจการเพิ่มขึ้น นอกเหนือไปจากกำไรสุทธิ
สินทรัพย์ถาวรและสินทรัพย์อื่นที่ลดลง เช่น จำหน่ายที่ดินและอาคาร ขายหลักทรัพย์ ลูกหนี้ลดลง สินค้าคงเหลือลดลง
หนี้สินระยะยาว และหนี้สินอื่นที่เพิ่มขึ้น เช่น ออกหุ้นกู้ เจ้าหนี้เพิ่มขึ้น
ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่ม เช่น การขายหุ้นเพิ่มทุน

ทางที่ใช้ไปของเงินทุน (Uses of Funds) ที่สำคัญ ได้แก่

สินทรัพย์ถาวรและสินทรัพย์อื่นที่เพิ่มขึ้น เช่น ซื้อที่ดิน อาคารและเครื่องจักร ซื้อหลักทรัพย์ ลูกหนี้เพิ่มขึ้น สินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้น
หนี้สินระยะยาว และหนี้สินอื่นที่ลดลง เช่น ไถ่ถอนหุ้นกู้ เจ้าหนี้ระยะสั้นลดลง
ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง เช่น การลดทุน
การจ่ายเงินปันผล

งบแสดงการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงิน ให้ประโยชน์ในแง่ที่จะสะท้อนให้เห็นถึง นโยบายทางการเงินของธุรกิจซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้ คือ

การจัดหาเงินทุนเพิ่มเติม
การจัดสรรเงินทุนที่มีอยู่
การใช้เงินทุน และผลทางการเงินที่จะตามมา
การแก้ไขสถานการณ์ทางการเงินเฉพาะหน้า

การวิเคราะห์สภาพคล่องทางการเงิน

จากการวิเคราะห์สภาพคล่องของบริษัท ซึ่งเป็นการวัดความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นของบริษัท ปรากฏว่า Current Ratio ของบริษัท กขค. จำกัด ในปี 2540 และปี 2541 มีอัตราใกล้เคียงกัน คือประมาณ 2.00 เท่า ซึ่งนับว่าอยู่ในระดับมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนต้องพิจารณาสินทรัพย์หมุนเวียนของบริษัทส่วนใหญ่ ว่าเป็นสินทรัพย์ที่ใกล้เคียงกับเงินสดมากน้อยเพียงใด โดยวิเคราะห์จากอัตราส่วน Quick Ratio ซึ่งได้ตัดสินค้าคงเหลือ ที่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงสุดในบรรดาสินทรัพย์หมุนเวียน และมีความคล่องต่ำออกไป จะเห็นได้ว่า Quick ratio ของบริษัท กขค. จำกัด เท่ากับ 1.11 ในปี 2540 และเท่ากับ 1.18 ในปี 2541 ตามลำดับ แสดงว่าความคล่องตัวของบริษัท อยู่ในระดับสูงกว่ามาตรฐานเล็กน้อย และอัตราส่วนนี้ได้เพิ่มขึ้นภายในช่วงระยะเวลาหนึ่งปี

สำหรับอัตราการหมุนเวียนของลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้น และระยะเวลาถัวเฉลี่ยการเก็บหนี้ ซึ่งเท่ากับ 53 วัน ในปี 2540 และลดลงเป็น 46 วัน ในปี 2541 แสดงให้เห็นว่าบริษัทสามารถเก็บหนี้ได้เร็วขึ้น และการที่อัตราการหมุนเวียนของสินค้าเพิ่มขึ้นจาก 1.72 ครั้งในปี 2540 เป็น 2.44 ครั้งในปี 2541 แสดงว่าบริษัทนี้ได้มีการปรับปรุงเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือ โดยการส่งเสริมการจำหน่าย เพื่อเพิ่มยอดขายด้วยการโฆษณา หรือการปรับปรุงช่องทางจำหน่ายให้สามารถระบายสินค้าได้เร็วขึ้น เป็นต้น


การวิเคราะห์ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

อัตราส่วน Earning Power ของบริษัทนี้เพิ่มขึ้นจาก 27.96% ในปี 2540 เป็น 41.86% ในปี 2541 แสดงความสามารถในการก่อให้เกิดผลตอบแทนของบริษัทนี้เพิ่มขึ้น หากแสดงรายละเอียดของอัตราส่วนนี้เพิ่มเติม จะเห็นได้ว่า เกิดจากผลคูณระหว่างอัตราการหมุนของสินทรัพย์ดำเนินงาน และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อยอดขาย

3.2.3 การวิเคราะห์ความสามารถในการหากำไรของธุรกิจ

อัตราส่วนวิเคราะห์ความสามารถในการหากำไรของบริษัท เป็นอัตราส่วนวัดประสิทธิภาพในการใช้เงินทุนทั้งหมด หรือเงินทุนจากส่วนของผู้ถือหุ้น สำหรับบริษัทนี้อัตราส่วน Return on Asset ได้เพิ่มขึ้นจาก 15.67% ในปี 2540 เป็น 19.34% ในปี 2541 นอกจากนั้น ผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้นสามัญ (Return on Equity) ก็ได้เพิ่มขึ้นจาก 32.16% ในปี 2540 เป็น 42.17% ในปี 2541 เช่นกัน

3.2.4 การวิเคราะห์นโยบายทางการเงินของบริษัท

อัตราส่วนของหนี้สินต่อทรัพย์สินรวมเป็นอัตราส่วนวัดว่า แหล่งที่มาของเงินทุนในทรัพย์สินของกิจการ มาจากการกู้ยืมหรือเจ้าหนี้ในอัตราส่วนเท่าใด สำหรับบริษัทนี้ อัตราส่วน Debt Ratio ได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 0.51 เท่าในปี 2540 เป็น 0.54 เท่าในปี 2541 แสดงว่าอัตราส่วนของการกู้ยืมประมาณครึ่งหนึ่งของทรัพย์สินรวม นอกจากนี้ อัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการชำระหนี้สินระยะยาวของกิจการ สำหรับบริษัทนี้อัตราส่วน Debt to Equity Ratio ได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.05 เท่าในปี 2540 เป็น 1.18 เท่าในปี 2541 ซึ่งหมายถึง อัตราส่วนของหนี้สูงขึ้น แสดงว่าผู้ถือหุ้นมีโอกาสจะได้ผลตอบแทนสูงขึ้น เพราะมีการใช้เงินทุนจากแหล่งเงินกู้อื่นสูงกว่าจากผู้ถือหุ้นสามัญ และหุ้นบุริมสิทธิ แต่บริษัทก็มีความเสี่ยงสูงด้วยเช่นเดียวกัน เพราะเงินกู้เป็นแหล่งเงินทุนที่มีภาระดอกเบี้ยจ่าย

สำหรับอัตราส่วนวิเคราะห์ความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย จะแสดงให้เห็นความสามารถในการชำระดอกเบี้ยของบริษัท ว่าสามารถนำกำไรจากการดำเนินงานมาจ่ายดอกเบี้ยได้มากน้อยเพียงใด อัตราส่วนนี้ใช้วัดความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย และใช้วัดความเชื่อมั่นของเจ้าหน้าที่ ที่มีต่อบริษัทว่า จะได้รับชำระหนี้ทันกำหนดหรือไม่ จากอัตราส่วนนี้ของบริษัท กขค. จำกัด ซึ่งลดลงจาก 35.28 ครั้งในปี 2540 เป็น 9.36 ครั้งในปี 2541 แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยน้อยลง เนื่องจากมีภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นจากปี 2540 มาก

สำหรับอัตราการจ่ายปันผล (Dividend Payout Ratio) ซึ่งเป็นอัตราส่วนการจ่ายเงินปันผลจากกำไรที่ได้ในแต่ละปีให้แก่ผู้ถือหุ้น บริษัทนี้จ่ายเงินปันผลในอัตรา 50.92% ในปี 2540 และ 70.52% ในปี 2541 ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่สูงมาก การจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิของบริษัทในอัตราที่สูง สามารถดึงดูดใจผู้ลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล ณ สิ้นงวดบัญชีได้

3.3 การประเมินมูลค่าหลักทรัพย์

วัตถุประสงค์ของการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ (Valuation) คือ การหามูลค่าหลักทรัพย์ทางปัจจัยพื้นฐาน เพื่อให้ได้มูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) ซึ่งจะนำมาเปรียบเทียบ กับราคาของหลักทรัพย์ในตลาด (Market Price) เพื่อพิจารณาว่าหลักทรัพย์นั้น overvalue หรือ undervalue ถ้าหลักทรัพย์นั้น overvalue หมายความว่า ราคาตลาดของหลักทรัพย์นั้นสูงกว่ามูลค่าหลักทรัพย์ที่ประเมินได้ ในกรณีนี้ ผู้ลงทุนไม่ควรซื้อหลักทรัพย์นั้น เนื่องจากราคาตลาดสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง ในทางตรงกันข้าม ถ้าหลักทรัพย์นั้น undervalue หมายความว่า ราคาตลาดของหลักทรัพย์นั้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของหลักทรัพย์ที่ประเมินได้ ในกรณีนี้ผู้ลงทุนก็อาจซื้อหลักทรัพย์นั้น

อย่างไรก็ตาม การประเมินมูลค่าเงินลงทุน ย่อมได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงิน การคลัง อุปสงค์และอุปทาน หรือตัวแปรทางอุตสาหกรรม รวมทั้งการวิเคราะห์งบการเงินและฐานะของบริษัท

ในการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ในทางทฤษฎีมีด้วยกันหลายวิธี วิธีหนึ่งที่ใช้คือการประเมินโดย Dividend Valuation Model เพื่อเป็นการหามูลค่าปัจจุบัน (Present Value) ด้วยการหามูลค่าของหลักทรัพย์ที่ควรจะลงทุน โดยนำผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับทั้งหมดในอนาคต (เงินปันผลที่คาดว่าจะได้รับในแต่ละงวดและเงินต้น) ซึ่งได้จากการลงทุนนั้นมา discount ด้วยอัตราส่วนลด (Discount Rate) ที่เหมาะสมมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นมูลค่าของหลักทรัพย์ ซึ่งผู้ลงทุนจะนำไปเป็นข้อมูลในการพิจารณามูลค่าเงินลงทุน ที่ผู้ลงทุนควรจ่ายเพื่อซื้อหลักทรัพย์นั้นในขณะนั้น

2 comments:

Anonymous said...

Slot Machines Online for free - Lucky Club Live
Slot Machines Online · Play demo · Slot Machines Online · Slot Machines Online · Slot Machines Online · Slot Machines Online · Slot Machines Online · Slot luckyclub Machines Online

fabianobacik said...

Playtech casinos accepting US players - JTM Hub
Best Playtech casinos accepting US players. We are proud to announce that the Playtech 동해 출장안마 casino 용인 출장샵 is 안동 출장마사지 now accepting players from more 강릉 출장샵 than 인천광역 출장샵 20 other